ภาควิชาวิศวกรรมเคมีและวัสดุ มทร.ธัญบุรีนำนวัตกรรมชีวภาพ บริการชุมชน

คอลัมน์ แม่ทองต่อ พ่อประหยัด: ดีเซลจากโฟม
 
ไม่น่าเชื่อ คนไทยผลิตขยะโฟมจำพวกถาดโฟม กล่องโฟมใส่อาหารมากถึงวันละ 1,700,000 กก. เป็นปัญหายักษ์ใหญ่ระดับชาติ เพราะเป็นขยะที่ยากต่อการกำจัด…แล้วไหนยังจะมีขยะจากน้ำมันเครื่องใช้แล้วเข้าให้อีก แต่ละปีมีน้ำมันเครื่องใช้แล้วแค่ 20-30% ที่ถูกนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี…ส่วนอีก 70-80% ยังเป็นปัญหาหนักอกที่ยังกำจัดไม่ได้
 
อ.ณัฐชา เพ็ชร์ยิ้ม และ อ.รินลดา สิริแสงสว่าง ภาควิชาวิศวกรรมเคมีและวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี พร้อมด้วย นายวันเฉลิม พรพิเชษฐ์ และ น.ส.ชลิตา ไม้เกตุ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิศวกรรมเคมีและวัสดุ จึงร่วมกันวิจัย…นำขยะทั้ง 2 อย่าง มาทำเป็นน้ำมันดีเซล
 
กระบวนการทำไม่มีอะไรมาก อ.ณัฐชา บอกว่า ถ้าอยากได้น้ำมันดีเซล 1 ลิตรให้เตรียมวัสดุตั้งต้น 2 ชนิด… ขยะโฟมที่ล้างสะอาดสับให้เป็นชิ้นเล็กๆ และเอาน้ำมันเครื่องใช้แล้วที่กรองมาจนสะอาด มาต้มไล่น้ำออกไปให้หมดด้วย อุณหภูมิ 110 C ประมาณ 1 ชั่วโมง
 
จากนั้นนำโฟมและน้ำมันเครื่องอย่างละ 0.5 กก. มาใส่ผสมรวมกัน แล้วนำตัวเร่งปฏิกิริยาที่เรียกว่า “ซีโอไลต์” มาเติมลงไป 5 กรัม
 
จากนั้นนำไปเผากระตุ้นด้วยอุณหภูมิ 400 C…. ขั้นตอนนี้ยุ่งยากหน่อย เนื่องจากเผาแบบธรรมดาไม่ได้ ต้องมีอุปกรณ์ช่วย เพราะต้องดูดอากาศจากหม้อต้มออกไปให้หมด แล้วเติมก๊าซไนโตรเจนลงไปแทน
 
ต้มนาน 2 ชั่วโมง จะเกิดก๊าซระเหยลอยขึ้นมาในเครื่องปฏิกรณ์ปล่อยให้ก๊าซเหล่านั้นไหลผ่านชุดควบแน่น…ก๊าซจะกลายเป็นหยดน้ำมันดีเซล ให้เราเอาใช้งานค่ะ
 
อ.ณัฐชา บอกว่า น้ำมันดีเซลที่ได้มามีคุณภาพสามารถนำมาใช้งานกับเครื่องยนต์ดีเซลรอบต่ำ จำพวกเครื่องสูบน้ำ เครื่องจักรกลทางการเกษตร แต่ถ้าถามว่า สามารถนำไปใช้กับรถยนต์กระบะได้หรือไม่ ทีมวิจัยออกตัวว่า ยังไม่ได้มีการทดสอบอย่างเป็นทางการว่าจะใช้ได้ไหม…เคยแต่ลองกันแค่สตาร์ตรถติด เครื่องไม่ดับ รถวิ่งไปมาได้เท่านั้น
 
แต่กระนั้น อ.ณัฐชา มั่นใจว่า ถ้านำดีเซลตัวนี้ไปกลั่นอีกที น่าจะใช้กับรถยนต์ได้…ส่วนใครสนใจกระบวนการผลิตน้ำมันดีเซลแบบนี้สอบถามกันได้ที่ 08-1614-5677