ภาวะโลกร้อน” Global Warming พิบัติภัยจากน้ำมือมนุษย์หรือธรรมชาติ
  ดาวเคราะห์สีน้ำเงินดวงนี้ เป็นดวงดาวที่เราเรียกว่า “โลก” ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดสิ่งมีชีวิตหลายหลายสายพันธุ์ รวมทั้งมนุษย์เราด้วย กว่าที่โลกของเราจะมาเป็นดวงดาวที่สวยงามในทุกวันนี้ ต้องผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 4,600 ล้านปี.....

ดาวเคราะห์สีน้ำเงินดวงนี้ เป็นดวงดาวที่เราเรียกว่า “โลก” ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดสิ่งมีชีวิตหลายหลายสายพันธุ์ รวมทั้งมนุษย์เราด้วย กว่าที่โลกของเราจะมาเป็นดวงดาวที่สวยงามในทุกวันนี้ ต้องผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 4,600 ล้านปี.......



 

      โลกของเรากำเนิดขึ้นมาพร้อมๆกับดวงอาทิตย์ และดาวเคราะห์ดวงอื่นๆในระบบสุริยะ เมื่อประมาณ 4,600 ล้านปีมาแล้ว แก๊สและฝุ่น รวมตัวก่อกำเนิดเป็นดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์ โลกในยุคแรกเป็นของเหลวหนืด ร้อน ถูกกระหน่ำชนด้วยอุกกาบาตขนาดใหญ่ตลอดเวลา  องค์ประกอบซึ่งเป็นธาตุหนัก เช่น โลหะจมตัวลงสู่แกนกลางของโลก องค์ประกอบซึ่งเป็นธาตุเบา เช่น ซิลิกอน และแก๊สต่างๆลอยตัวขึ้นสู่พื้นผิว
 
      โลกถูกปกคลุมด้วยแก๊สไฮโดรเจน ไนโตรเจน และคาร์บอนไดออกไซด์  เนื่องจากพื้นผิวโลกร้อนมาก ประกอบกับอิทธิพลจากลมสุริยะ จึงทำให้แก๊สไฮโดรเจนแตกตัวเป็นประจุ(Ion) และหลุดหนีสู่อวกาศ ปริมาณแก๊สไฮโดรเจนในบรรยากาศจึงลดลง

      ในเวลาต่อมา เปลือกโลกเริ่มเย็นตัวลงเป็นของแข็ง องค์ประกอบที่เบากว่าซึ่งถูกกักขังไว้ภายใน พยายามแทรกตัวออกตามรอยแตกของพื้นผิว เช่น ภูเขาไฟระเบิด องค์ประกอบหลักของบรรยากาศโลกเป็นแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ และไนโตรเจน  ต่อมาเมื่อโลกเย็นตัวลง จนไอน้ำในอากาศสามารถควบแน่นทำให้เกิดฝน น้ำฝนได้ละลายคาร์บอนไดออกไซด์ลงมาบนพื้นผิวโลก ทำให้ปริมาณของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง น้ำฝนจำนวนมากสะสมและรวมตัวกันในบริเวณแอ่งที่ต่ำ กลายเป็นทะเลและมหาสมุทร

      จนกระทั่งเมื่อประมาณ 3,800 ล้านปีที่ผ่านมา สิ่งมีชีวิตได้กำเนิดขึ้น และได้วิวัฒนาการให้มีการสังเคราะห์แสง เช่น แพลงตอน สาหร่าย และพืช ดึงคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศและน้ำทะเล มาสร้างน้ำตาล และให้ผลผลิตเป็นแก๊สออกซิเจนออกมา

      องค์ประกอบของบรรยากาศโลกจึงเปลี่ยนแปลงไป แก๊สออกซิเจนกลายเป็นองค์ประกอบหลักที่สำคัญแทนแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ และยังมีการผลิตแก๊สมีเทนเกิดขึ้นอีกด้วย ซึ่งแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์และแก๊สมีเทนนั้น เป็นแก๊สเรือนกระจก(greenhouse gases)

      โลกได้เริ่มต้นเข้าสู่วัฎจักรที่ผ่านยุคที่เย็นจัดจนเป็นน้ำแข็ง(Snowball Earth) และยุคที่น้ำแข็งละลายจนกระทั่งอุ่นขึ้นสลับไปมาแล้วหลายครั้งตั้งแต่ประมาณ 3 ล้านปีที่ผ่านมา

      อุณหภูมิของโลกเกิดจากการที่ได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์โดยตรง พลังงานบางส่วนจะถูกส่งกลับออกไปยังอวกาศโดยก้อนเมฆและน้ำแข็งบนโลก บางส่วนจะถูกโลกดูดซับพลังงานนั้นไว้  ถ้าพลังงานถูกส่งกลับและดูดซับไว้มีปริมาณที่เท่ากัน อุณหภูมิของโลกก็จะคงที่ แต่ตราบใดก็ตามถ้าสมดุลนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งย่อมส่งผลกระทบต่ออุณหภูมิของโลกแน่นอน

      บรรยากาศของโลกประกอบด้วย แก๊สไนโตรเจน 78% แก๊สออกซิเจน 21% แก๊สอาร์กอน 0.9% นอกนั้นเป็น ไอน้ำ แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนเล็กน้อย แม้ว่าไนโตรเจน ออกซิเจน และอาร์กอน จะเป็นองค์ประกอบหลักของบรรยากาศ แต่ก็มิได้มีอิทธิพลต่ออุณหภูมิของโลก ในทางตรงกันข้ามแก๊สโมเลกุลใหญ่ เช่น ไอน้ำ คาร์บอนไดออกไซด์ และมีเทน แม้จะมีอยู่ในบรรยากาศเพียงเล็กน้อย กลับมีความสามารถในการดูดกลืนรังสีอินฟราเรดที่โลกแผ่ออกมา และมีอิทธิพลทำให้อุณหภูมิของโลกอบอุ่น เราเรียกแก๊สพวกนี้ว่า “แก๊สเรือนกระจก” (Greenhouse gases)    “เรือนกระจก” หมายถึงโรงเพาะปลูกต้นไม้ ซึ่งมีผนังที่ห่อหุ้มด้วยวัสดุโปร่งใส เช่น แก้ว หรือพลาสติก เพื่อป้องกันมิให้สูญเสียความร้อนออกไป ทำให้อากาศภายในมีอุณหภูมิสูง ช่วยให้ต้นไม้เจริญเติบโต
  
      โลกของเราก็มีสภาวะนี้ เรียกว่า “ภาวะเรือนกระจก”(Greenhouse effect) โมเลกุลของแก๊สเรือนกระจกในบรรยากาศ จะทำหน้าที่ดูดกลืนรังสีอินฟราเรดที่โลกแผ่ออกมา ไม่ให้พลังงานสูญหายไปในอวกาศจนหมด ซึ่งช่วยให้โลกมีอุณหภูมิอบอุ่นขึ้น การทำงานของแก๊สเรือนกระจกนี้มีประโยชน์  โดยในเวลากลางวันเมฆและบรรยากาศจะช่วยสะท้อนแสงอาทิตย์ส่วนหนึ่งออกไป ทำให้อุณหภูมิไม่สูงมาก และรังสีอินฟราเรดที่แผ่จากไอน้ำและแก๊สเรือนกระจก ช่วยรักษาอุณหภูมิไว้ไม่ให้ต่ำมากเวลากลางคืน ทำให้กลางวันและกลางคืนบนโลกมีอุณหภูมิไม่แตกต่างกันมาก แต่ถ้ามีปริมาณแก๊สเรือนกระจกมากเกินไปก็จะส่งผลถึงอุณหภูมิของโลกที่จะสูงขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน

      จากข้อมูลทางวิชาการนั้น ปริมาณของแก๊สเรือนกระจกจะมีผลต่ออุณหภูมิของโลก จากกราฟจะเห็นได้ว่า ก่อนปี คศ.1800ปริมาณของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศมีไม่สูงมากนัก แต่ในช่วงเวลาประมาณ 150-200 ปี ที่ผ่านมาปริมาณของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มสูงขึ้นมากเห็นได้อย่างชัดเจน และส่งผลถึงอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นตามมาด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะบริเวณขั้วโลกเหนือ ซึ่งสอดคล้องกับช่วงเวลาที่โลกเริ่มเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมพอดี  ของเสียจากกระบวนการผลิตในระบบอุตสาหกรรมและการบริโภคก่อให้เกิดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เก็บกักความร้อนทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และผลจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง ระบบนิเวศถูกทำลายอย่างไม่ปราณีปราศัย ผลจากการที่ธรรมชาติถูกรุกราน คือภาวะโลกร้อน(global warming) อันเป็นที่มาของสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน(climate change)

      ถึงแม้ว่านักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญจะกล่าวว่า ภาวะโลกร้อนเป็นวัฎจักรตามธรรมชาติก็ตาม  แต่มนุษย์เราก็มีส่วนอยู่มิใช่น้อย ในการที่จะเร่งให้กระบวนการต่างๆ เสมือนหนึ่งเป็นเอนไซม์ที่ไปเร่งปฎิกิริยาที่เกิดขึ้นในธรรมชาตินั้นให้เร็วขึ้นกว่าปกติ  ภัยจากโลกร้อนนี้เป็นภัยใกล้ตัวที่คนทั้งโลก รวมทั้งคนไทยที่ต้องเจอกับภัยธรรมชาติเหล่านี้ มีการค้นคว้าวิจัยและประมวลผลทางสถิติ และเผยแพร่สู่สาธารณชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของสาเหตุ ผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมถึงแนวทางการแก้ไขบรรเทา เพื่อให้มนุษย์ผู้เป็นเจ้าของโลกตระหนักถึงภัยร้าย และใส่ใจกับโลกที่ตนเองอาศัยอยู่มากขึ้น 

      สาเหตุหลักของการเกิดภาวะโลกร้อนมาจากแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เป็นสำคัญ ดังนั้นเมื่อต้องการลดภาวะเรือนกระจก การควบคุมปริมาณการผลิตแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จึงเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นเรื่องแรก  โดยเริ่มต้นจากสำนึกในตัวเอง ประหยัดการใช้พลังงานทุกชนิด โดยเฉพาะพลังงานจากฟอสซิล ลดการกินทิ้งกินขว้างที่จะทำให้เกิดแก๊สมีเทน ไม่ซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย ควรบริโภคผลิตภัณฑ์ในประเทศเพื่อลดการใช้ทรัพยากรเพื่อการขนส่ง ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวเพื่อลดปริมาณการใช้พลังงาน เป็นต้น หากมีการนำสิ่งเหล่านี้ไปปฏิบัติอย่างจริงจังก็จะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดี เนื่องจากโลกเกิดจากความสมดุล หากเมื่อใดที่มนุษย์บริโภคอย่างไม่รู้จักพอ และทำลายทรัพยากรธรรมชาติ โดยนำมาใช้สนองความโลภอย่างไร้ขอบเขต เมื่อนั้นสมดุลของระบบนิเวศจะผิดปกติ และความแปรปรวนก็จะเกิดขึ้นบนโลกนี้มากขึ้นทุกวัน ทางออกของปัญหานั้นมีรออยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าจะมีใครใส่ใจปฏิบัติหรือไม่ มนุษย์ยังคงต้องอาศัยอยู่บนโลกใบนี้ต่อไป มาช่วยกันทนุถนอมและไม่สร้างภาระให้โลกต้องมัวหมองมากขึ้นกว่านี้ก็พอแล้ว........

 

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( Sunday, 05 October 2008 )